ท่อระบายน้ำตาของคนเราอยู่ บริเวณหัวตาและต่อเข้าไปในจมูก โดยปกติคนเราจะสร้างน้ำตาบริเวณต่อมน้ำตา (lacrimal gland) และน้ำตานั้นจะถูกระบายผ่านท่อระบายน้ำตา (nasolacrimal duct) ไหลลงมาที่โพรงจมูกและคอหอยจึงทำให้เราไม่มีน้ำตาไหลตลอดเวลา

แต่ถ้าท่อระบายของน้ำตาเราอุดตันก็จะทำให้เรามีอาการน้ำตาไหลต้องคอยซับบ่อยๆทั้งวันได้ และถ้าในกรณีที่เป็นมากหรือว่าท่อน้ำตาตันสมบูรณ์ก็มีโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปโตในถุงน้ำตา (lacrimal sac) บริเวณหัวตาและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ บางคนจะพบอาการถุงน้ำตาอักเสบแดงมีหนองไหลออกมาจากบริเวณหัวตา (dacryocystitis) ดังรูปด้านล่าง

การตรวจประเมินท่อน้ำตาอุดตัน สามารถทำได้โดยใช้น้ำใส่ในเข็มฉีดยาต่อกับเข็มปลายทู่เล็กๆ (blunt tipped cannula) สอดเข้าไปที่รูเปิดของท่อระบายน้ำตาบริเวณหัวตา (punctum) และฉีดน้ำผ่านลงไป ถ้าท่อน้ำตาระบายได้ปกติ จะรู้สึกถึงน้ำที่ไหลลงในจมูกและคอ แต่ถ้าท่อน้ำตาอุดตันจะไม่รู้สึกว่ามีน้ำไหลลงคอเลย และน้ำจะเอ่อมาบริเวณลูกตาแทน ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก อาจใช้สีย้อมกระจกตา (fluorescein) ป้ายที่ตาและดูว่าสีนั้นลดปริมาณลงไปในเวลาประมาณ 5 นาทีหรือไม่ ถ้าในกรณีท่อน้ำตาปรกติ สีจะหายไปเกือบหมด แต่ถ้าท่อน้ำตาอุดตัน จะพบสีบริเวณตามากกว่าอีกข้าง (dye disappearance test)
สาเหตุของท่อระบายน้ำตาอุดตันส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับอายุ ถ้าเป็นในเด็กตั้งแต่แรกเกิดมักจะพบว่ารูเปิดของท่อระบายน้ำตาลในจมูกนั้นมีพังผืดมาปิดกั้น การรักษาก็อาจจะทำได้ตั้งแต่การนวดบริเวณหัวตาเพื่อดันให้น้ำตาไหลลงรูและดันเยื่อที่ปิดเอาไว้ให้เปิดออก หรือในกรณีที่เด็กโตกว่า 1 ขวบก็อาจจะใช้เป็นแท่งเหล็กเล็กๆแยงผ่านท่อน้ำตาให้เยื่อปิดไว้เปิดออกได้ (ทำภายใต้การดมยาสลบ) หรือในกรณีที่ต้องถ่างท่อน้ำตาให้ขยายใหญ่ขึ้น อาจใส่เป็น lacrimal stent ซึ่งคือท่อซิลิโคนเล็กๆลักษณะคล้ายๆเส้นวุ้นเส้นเอาไว้ในท่อน้ำตาและนำออกภายหลัง ดังรูปด้านล่าง

สำหรับสาเหตุของท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการตีบของท่อน้ำตา และถ้าท่อน้ำตาตันแบบสมบูรณ์การรักษาก็คือการผ่าตัดสร้างรูระบายน้ำตาอันใหม่ การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันในผู้ใหญ่ทำภายใต้การดมยาสลบเป็นหลัก มีสองทางเลือกหลักๆ คือแบบเปิดแผลด้านผิวหนังบริเวณหัวตากับผ่าตัดแบบส่องกล้องผ่านทางจมูกโดยไม่มีแผลภายนอก (มีค่าใช้จ่ายของการส่องกล้อง) โดยผลลัพธ์ความสำเร็จประมาณ 90-95% ในการผ่าตัดครั้งแรก
การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันด้วยการส่องกล้องผ่านทางจมูก
การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตัน ณ ปัจจุบัน นิยมทำผ่าตัดด้วยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องทางจมูก เนื่องจากมีข้อดีดังนี้
1. ไม่มีแผลผ่าตัดภายนอกหรือแผลเป็นบนผิวหนัง
2. ไม่รบกวนกล้ามเนื้อที่ใช้ในการปั๊มน้ำตาให้ลงในท่อ (orbicularis oculi muscle)
3. แผลสมานและหายเร็วกว่า
4. สามารถส่องดูโครงสร้างภายในโพรงจมูกได้ ทำให้อาจเห็นปัญหาเพิ่มเติมเช่น ผนังจมูกคด (nasal septum deviation) เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปรกติอื่นๆเช่น คลำได้ก้อนที่ถุงน้ำตา หรือ มีน้ำตาเป็นเลือดออกมา แพทย์อาจแนะนำให้ทำ CT scan (คอมพิวเตอร์เอ็กซเรย์) ของโพรงจมูกเพิ่มเติมก่อนผ่าตัดเพื่อประเมินดูว่ามีก้อนเนื้อผิดปรกติบริเวณถุงน้ำตาหรือใกล้เคียง เนื่องจากอาจต้องวางแผนตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจแทน
การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านทางจมูกมักทำภายใต้การดมยาสลบ โดยเป็นการเปิดช่องในกระดูกตรงบริเวณถุงน้ำตากับโพรงจมูก เชื่อมเยื่อบุโพรงจมูกกับถุงน้ำตา ทำให้น้ำตาสามารถระบายจากถุงน้ำตาเข้าลงในโพรงจมูกโดยตรง ระหว่างและหลังผ่าตัดอาจมีเลือดกำเดาไหลได้ การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยแพทย์อาจเลือกใส่ lacrimal stent หรือท่อซิลิโคนเล็กๆคาไว้บริเวณหัวตาและโพรงจมูก และจะตัดออกโดยดึงผ่านทางรูจมูกที่ประมาณ 1-2 เดือนให้หลังจากผ่าตัด โดยระหว่างที่มี stent อยู่ต้องระวังอย่าไปดึง stent ในจมูก หรือจามหรือไอแรงๆ เพราะอาจจะทำให้ stent หลุดออกมาได้ (ดังรูปสุดท้าย)



อ.พญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ