โรคไทรอยด์เป็นพิษ อาจส่งผลให้มีอาการทางตาได้ ไม่ว่าจะเป็นตาโปน ตาเข ตาแดง ตาแห้ง หรือหลับตาไม่สนิท และอาการเหล่านี้มักส่งผลกับคุณภาพชีวิต เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้และวิธีรักษากันนะคะ เพราะโรคนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของอาการตาโปน

สาเหตุของโรคไทรอยด์ขึ้นตา
เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง (แอนตี้บอดี้) ขึ้นมา ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ผลิตโดยเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดและไปต่อสู้กับเนื้อเยื่อปรกติของร่างกายเรา ในกรณีของไทรอยด์เป็นพิษ แอนตี้บอดี้นี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปรกติ ทำให้มีอาการใจสั่น น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ผมร่วง เป็นต้น ซึ่งแอนตี้บอดี้เหล่านี้ก็อาจไปส่งผลกับเนื้อเยื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นไขมันหรือกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆดวงตา ทำให้ไขมันและกล้ามเนื้อบวมอักเสบ (ดังรูป) ทั้งนี้ในบางรายที่เป็นโรคไทรอยด์ขึ้นตานั้น อาจไม่มีอาการของไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย หรือผลค่าฮอร์โมนปรกติก็ได้ แต่มีค่าแอนตี้บอดี้ที่สูงผิดปรกติแทน

อาการของโรคไทรอยด์ขึ้นตา
เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณเบ้าตาเกิดการอักเสบ บวมแดงร้อน ไขมันและกล้ามเนื้อตาที่บวมจะดันลูกตาออก ทำให้มีอาการตาโปน ตาแดง ปวดเบ้าตา เปลือกตาเลิก มีผลให้หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง อาจกลอกตาไม่สุดและมีตาเข ทำให้เห็นภาพซ้อน และถ้ารุนแรงมากๆ อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ จากการที่เส้นประสาทตาถูกกล้ามเนื้อกดทับ ซึ่งจะสังเกตได้จากค่าสายตาที่มัวลง ลานสายตาที่แคบลง และการมองเห็นสีที่สูญเสียไป

อาการอักเสบเหล่านี้มักจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นๆลงๆ บางวันบวมมาก บางวันบวมน้อย ในช่วง 1-2 ปีแรก เรียกว่า active phase และหลังจากนั้นอาการจะสงบลงและค่อนข้างคงที่ เรียกว่า stable หรือ inactive phase ซึ่งในช่วงนี้อาการปวดบวมแดงจะหายไปและอาจมีพังผืด (fibrosis) เกิดขึ้นแทน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเบ้าตาจากโรคนี้มักจะถาวรและไม่สามารถคืนกลับสู่สภาพเดิมก่อนเป็นโรคได้เอง
การรักษาโรคไทรอยด์ขึ้นตา
การรักษาโรคไทรอยด์ขึ้นตา ณ ปัจจุบันที่มีในประเทศไทย เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองและลดอาการอักเสบในช่วง active phase แล้วจึงค่อยผ่าตัดแก้ไขความผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับเบ้าตาและเนื้อเยื่อรอบๆดวงตาหลังจากเข้าสู่ inactive phase แล้ว ยกเว้นในกรณีที่มีอาการอักเสบมากจนถึงกับทำให้สูญเสียการมองเห็นจากเส้นประสาทตาถูกกดทับ ถึงจะเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดในช่วง active phase
การรักษาในช่วง active phase มีอะไรบ้าง
1. การควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ให้อยู่ในช่วงปรกติ และลดปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยเฉพาะการหยุดสูบบุหรี่
2. การให้ยาสเตียรอยด์ มักจะนิยมให้ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงปานกลางจนถึงมาก สามารถให้เป็นแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือที่เบ้าตา หรือรับประทานก็ได้ (แต่ในกรณีรับประทานมักมีผลข้างเคียงมากกว่า)
3. การฉายรังสีที่เบ้าตา มักจะให้ควบคู่ไปกับสเตียรอยด์ในบางรายที่มีอาการรุนแรงปานกลางจนถึงมาก
4. การรับประทานซีลีเนียม (selenium) สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงน้อย ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่พบในดิน มีผลงานวิจัยพบว่าช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในประเทศแถบยุโรป
5. การดูแลให้ตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ จักษุแพทย์มักจะสั่งน้ำตาเทียมให้ผู้ป่วยหยอดเพื่อช่วยลดอาการตาแห้งด้วย
การรักษา (rehabilitative treatment) ในช่วง inactive phase สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงปานกลางจนถึงมากเป็นต้นไป มีขั้นตอนเรียงลำดับดังนี้
1. การผ่าตัดเบ้าตา (orbital decompression) ในรายที่มีอาการตาโปนหรือหลับตาไม่สนิท
2. การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา (strabismus surgery) ในรายที่มีอาการตาเขหรือเห็นภาพซ้อนในแนวตรงหรือมองลง
3. การผ่าตัดเปลือกตา (eyelid surgery) ในรายที่มีอาการเปลือกตาเลิก
การผ่าตัดเบ้าตาในโรคไทรอยด์ขึ้นตา
หลักการของผ่าตัดเบ้าตาในโรคไทรอยด์ขึ้นตานั้น มีข้อบ่งชี้หลักๆ ดังนี้
1. เพื่อแก้ไขเส้นประสาทตาถูกกดทับ (ในรายที่มีอาการรุนแรง สูญเสียการมองเห็น)
2. เพื่อแก้ไขอาการตาโปนที่ทำให้หลับตาไม่สนิท หรือตาแห้ง
3. เพื่อให้ผู้ป่วยมีรูปลักษณ์กลับสู่สภาพใกล้เคียงกับก่อนเป็นโรค

หลักการ
หลักการผ่าตัดนั้นทำได้สองอย่างคือ หนึ่ง ลดปริมาตรเนื้อเยื่อเบ้าตาลงโดยนำไขมันในเบ้าตาออกบางส่วน (ในกรณีที่เอาออกได้) หรือ สอง กรอกระดูกเบ้าตาออกบางส่วน เพื่อขยายเบ้าตาให้มีความกว้างเพิ่มขึ้น เพื่อที่เนื้อเยื่อในเบ้าตาจะได้ขยายเข้าไปในบริเวณส่วนขยายนั้นได้ ตาจะได้ยุบลงไปในเบ้าตา ลดการปูดโปนของลูกตาลง
ในกรณีที่ตาโปนไม่มาก (ไม่เกิน 2-3 มม. เทียบกับอีกข้าง หรือเทียบกับค่าของประชากรปรกติ) แพทย์มักจะนิยมนำเอาไขมันในเบ้าตาออกเป็นอย่างแรก เพื่อทำให้ปริมาตรของไขมันในเบ้าตาลดลงและตายุบเข้าไปในเบ้าตาได้ โดยเทคนิคที่มักนิยมใช้จะเป็นการกรีดตรงบริเวณเยื่อบุเปลือกตาล่างด้านใน (ไม่มีรอยแผลบนผิวหนังด้านนอก) และดึงเอาไขมันในเบ้าตาออกจนกระทั่งตายุบเท่าอีกข้าง

สำหรับการผ่าตัดกระดูกเบ้าตาออก มักจะทำในกรณีที่มีตาโปนปานกลางถึงมาก ส่วนที่นิยมนำออกมีดังนี้
- Deep lateral orbital wall (กระดูกเบ้าตาด้านข้างส่วนลึก) เป็นส่วนที่อยู่ด้านหลังลูกตาพอดี การกรอกระดูกบริเวณนี้ออกจะทำให้ลูกตาถอยเข้าไปในเบ้าตาตรงๆ และลดโอกาสเกิดตาเขและภาพซ้อนหลังผ่าตัด โดยปรกติวีธีนี้มีโอกาสเกิดภาพซ้อนประมาณ 4-7% ดังนั้นจึงเป็นส่วนที่นิยมถูกกรอออกก่อนส่วนอื่น
- Medial orbital wall (กระดูกเบ้าตาด้านใน หรือด้านหัวตา) ส่วนนี้เป็นกระดูกที่บางที่สุดของเบ้าตา อยู่ติดกับโพรงอากาศในจมูกที่เรียกว่า ethmoid sinus ดังนั้นการนำกระดูกส่วนนี้ออกคือการทำผ่าตัดไซนัสส่วน ethmoid ออกบางส่วน เพื่อให้เนื้อเยื่อในเบ้าตาเข้าไปแทนที่ในโพรงอากาศนั้นๆ บางครั้งจะทำควบคู่ไปกับการนำเอากระดูกพื้นเบ้าตาออก (orbital floor) เพื่อให้ได้พื้นที่มากขึ้น การทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีโอกาสเกิดตาเขหรือภาพซ้อนมากกว่าวิธีแรก โดยเฉลี่ยประมาณ 15-20% สำหรับในกรณีที่มีอาการเส้นประสาทตาถูกกดทับ แพทย์มักจะนิยมนำกระดูกด้านหัวตาออก เนื่องจากกระดูกเบ้าตาส่วนนี้จะอยู่ใกล้กับเส้นประสาทตาและสามารถลดอาการกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำผ่าตัดเบ้าตาส่วนอื่นๆ



การผ่าตัดเบ้าตาด้วยการส่องกล้องทางรูจมูก
การผ่าตัดเทคนิคค่อนข้างใหม่สำหรับภาวะไทรอยด์ขึ้นตา โดยเฉพาะภาวะไทรอยด์ขึ้นตาที่มีการกดทับเส้นประสาทตาร่วมด้วย (compressive optic neuropathy) นั่นก็คือการผ่าตัดนำกระดูกเบ้าตาออกผ่านทางการส่องกล้องทางจมูก (endoscopic orbital decompression)
จากกายวิภาคของกระดูกเบ้าตาจะพบว่ามีลักษณะคล้ายเป็นรูปพิระมิดโดยมีฐานอยู่ทางด้านหน้าซึ่งเป็นลูกตาที่เรามองเห็นจากด้านนอก พิระมิดนี้จะค่อยๆแคบเข้าทางด้านหลังลูกตาและมีส่วนยอดเป็นเส้นประสาทตา(เส้นประสาทที่ทำให้เรามองเห็น) โดยยิ่งลึกเข้าไปทางด้านหลังนี้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลอกลูกตาก็จะยิ่งอยู่ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆโดยเราจะเรียกบริเวณนี้ว่าส่วนยอดของเบ้าตา(orbital apex) ซึ่งภาวะการกดทับเส้นประสาทตานั้นก็จะเกิดจากกล้ามเนื้อตาเหล่านี้นั่นเองที่บวมโตขึ้นจนเบียดเส้นประสาทตา ทำให้มีการบวมของเส้นประสาท เส้นประสาทเกิดการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด


จะเห็นได้ว่าในการรักษาภาวะเส้นประสาทตาถูกกดทับจากโรคไทรอยด์ขึ้นตานี้ ส่วนที่สำคัญที่สุดในการผ่าตัดจึงเป็นการนำกระดูกเบ้าตาบริเวณส่วนยอดของเบ้าตา(orbital apex)ออก ร่วมกับการเปิดเยื่อหุ้มเบ้าตา(periorbita)ออก เพื่อให้ส่วนกล้ามเนื้อที่บวมใหญ่นั้นสามารถขยายออกมาได้ เป็นการลดการกดทับเส้นประสาทตาและลดความดันในเบ้าตาด้วย ทั้งนี้การผ่าตัดเบ้าตาเพื่อแก้ไขตาโปนเพียงอย่างเดียวมักจะไม่ได้จำเป็นต้องผ่าเข้ามาให้ลึกถึงบริเวณยอดของเบ้าตา จึงมักจะผ่าผ่านทางเยื่อบุหัวตาได้ (transcaruncular approach) โดยไม่จำเป็นต้องส่องกล้องผ่านทางจมูก
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะเส้นประสาทถูกกดทับผ่านทางเยื่อบุหัวตานี้ค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากตัวเนื้อเยื่อในเบ้าตาที่บวมและมีแรงดันมากขึ้นทำให้บดบังวิวการมองเห็นของศัลยแพทย์ในเบ้าตาส่วนที่ลึกได้ การใส่อุปกรณ์เครื่องมือเข้าไปในพื้นที่จำกัดนั้นทำได้ไม่ง่าย และถ้าออกแรงดึงเครื่องมือ (retractor) มากๆเพื่อให้ศัลยแพทย์มองเห็นส่วนลึกของเบ้าตา แรงดึงนั้นอาจไปกดทำอันตรายให้กับเส้นประสาทตาเพิ่มได้อีก อีกทั้งในบริเวณนี้เส้นประสาทตาจะอยู่ใกล้กับเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญบริเวณฐานสมอง ซึ่งหากเกิดเลือดออกขึ้นมา การห้ามเลือดจะทำได้ค่อนข้างลำบาก และมีโอกาสร้ายแรงถึงชีวิตได้ ในทางกลับกันหากเอากระดูกบริเวณนี้ออกน้อยเกินไปหรือเปิดเยื่อหุ้มเบ้าตาไม่เพียงพออาจทำให้การผ่าตัดนั้นไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
ดังนั้นการผ่าตัดนำกระดูกเบ้าตาออกผ่านทางการส่องกล้องเอนโดสโคป (endoscope) จึงเป็นการแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ กล่าวคือ
- เนื่องจากเป็นการใช้กล้องเล็กๆส่องเข้าไปจากทางจมูกผ่านทางไซนัสซึ่งถือว่าเป็นช่องทางตามธรรมชาติทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องดึงรั้งเนื้อเยื่อในเบ้าตา(ซึ่งอ่อนแอลงกว่าปกติอยู่แล้วโดยเฉพาะเส้นประสาทตา)เพื่อทำการผ่าตัดเลย อีกทั้งยังไม่มีแผลผ่าตัดภายนอกอีกด้วย
- การใช้กล้องส่องเข้าไปใกล้กับบริเวณที่ทำผ่าตัดโดยตรงทำให้ได้ภาพที่ชัดเจน มองเห็นเป็นบริเวณกว้างและแสงสว่างเพียงพอ ไม่เกิดมุมอับของสายตาเลยในทุกขั้นตอนของการผ่าตัดทำให้หมอผ่าตัดทำการเลาะเนื้อเยื่อหรือห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สามารถมองเห็นเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญบริเวณใกล้กับเส้นประสาทตาได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น ทำให้หมอผ่าตัดสามารถทำการนำกระดูกออกได้อย่างมั่นใจและเป็นบริเวณกว้างที่สุด


อย่างไรก็ตามการผ่าตัดแบบนี้เป็นการผ่าตัดที่ใช้ต้องใช้สกิลเกี่ยวกับ hand-eye coordination คือการมองเห็นภาพเป็น 2 มิติผ่านจอมอนิเตอร์และการควบคุมเครื่องมือผ่าตัดในรูจมูกเล็กๆ ทำให้การผ่าตัดนี้ต้องอาศัยเวลาฝึกฝนค่อนข้างนานและมักจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดในสาขาที่เกี่ยวข้องเช่น ประสาทศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านฐานสมอง (skull base neurosurgeon) หรือแพทย์หูคอจมูกที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดไซนัส (rhinologist) เข้าร่วมผ่าตัดด้วย เพื่อให้การผ่าตัดราบรื่นยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การทำผ่าตัดเบ้าตาถือเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ความประณีตและความเชี่ยวชาญอย่างมาก เพราะการผ่าตัดเหล่านี้มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกในเบ้าตาระหว่างผ่าหรือหลังผ่าทำให้สูญเสียการมองเห็น น้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วได้จากการที่เบ้าตานั้นอยู่ติดกับฐานของกระโหลกศีรษะ แพทย์จึงต้องทำการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ และผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเบ้าตา เบ้าตาและเปลือกตาบวม รวมถึงมีภาพซ้อนหลังผ่าตัดได้ จึงต้องวางแผนในการพักฟื้นหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1-2 อาทิตย์ โดยกว่าผลผ่าตัดจะเข้าที่นั้นอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน
พญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ
จักษุแพทย์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เคยผ่าตัดกล้าเนื้อตาเพื่อแก้อาการตาเขมาแล้ว ผ่านมา2เดือนมีการไทย์รอยขึ้นตา มีอาการตาโปนแต่ไม่เห็นภาพซ้อน (ในขณะมองตรง) และตอนนี้ยังactive
หากเมื่ออาการ inactive แล้ว และต้องผ่าตัดเบ้าตาเพื่อแก้ไขอาการตาโปน มีโอกาสที่แอนตี้บอดี้จำทำงานผิดปกติส่งผลต่อตา เป็นโรคไทย์รอยข้ึนตาอีกมั๊ยคะ
LikeLike
มีโอกาสประมาณ 4-7% ค่ะ ที่สำคัญที่สุดคือการคุมโรคไทรอยด์ให้ปรกติและไม่สูบบุหรี่ค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้กลับมา active ได้อีกค่ะ
LikeLike
ถ้ากำลังรักษาไทรอยด์เป็นพิษอยู่ มีตาโปนข้างเดียว สามารถไปผ่าตัดเอาไขมันในเบ้าตาออกและผ่าตัดเปลือกตาได้ไหมคะ หรือ ต้องคุมไทรอยด์ให้ปกติก่อนถึงจะไปทำได้ (ตาโปนข้างเดียวประมาณ2มม.ค่ะ)
LikeLike
แนะนำให้คุมเรื่องไทรอยด์ให้ปรกติก่อนค่ะ และส่วนใหญ่จะรอให้โรคตาสงบหลังจากเป็นประมาณ 1-2 ปีก่อนผ่าตัดค่ะ แนะนำให้มาประเมินดูค่ะ
LikeLike
รักษาไทรอยด์มาเกือบ 3 ปี ตอนนี้กลับมามีพิษสูง จะมีโอกาสขึ้นตามั้ยคะ
LikeLike
แนะนำให้สังเกตอาการทางตาค่ะ ว่ามีไหม เช่นเปลือกตาเลิก บวมแดง ตาโปน ปวดเบ้าตา ถ้ามีอาการเหล่านี้แนะนำให้มาพบจักษุแพทย์ค่ะ และควรคุมไทรอยด์ฮอร์โมนให้กลับเข้าสู่ระดับปรกติให้เร็วที่สุดค่ะ
LikeLike
หนูตาโปนข้างขวาข้างเดียวมาตั้งแต่เด็กค่ะ ตอนนี้อายุ 19 จะ 20 แล้วค่ะ ตรวจไทรอยด์แล้วปกติค่ะ
CT scan orbital ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอบอกว่าตาข้างขวาหนูไม่ได้มีสิ่งที่ผิดปกติ แต่ตาขวาหนูพี่หมอบอกว่าอะไรซักอย่าง 18 mm แต่ไม่เกิน 21 mm มีอาการปวดตาข้างขวาเล็กน้อยค่ะ คือหนูไม่มีความมั่นใจเลยค่ะ โดนล้อตลอดเลยค่ะ
อยากถามว่าแค่หยอดตาเฉยๆตาข้างขวาหนูจะดีขึ้นไหมคะหรือต้องผ่าเอาไขมันเบ้าตาออกเท่านั้นคะ ถ้าจะผ่าเอาไขมันเบ้าตาออกค่าใช้จ่ายแพงมากไหมคะ (ตาโปนข้างเดียวประมาณ 2-3 มิลค่ะ)
LikeLike
แนะนำให้ตรวจกับจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้างก่อนค่ะ เพราะปรกติแล้วมักจะมีสาเหตุที่ตาโปนผิดปรกติ ถ้า CT ไม่เห็นอาจจะต้องทำ MRI ร่วมด้วยค่ะ
LikeLike
เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมตาขวาโปน ไปหาจักษุแพทย์ หมอบอกว่าอาจเป็นไทรอยด์และแนะนำให้ไปหาหมอต่อมไร้ท่อ หลังจากพบหมอต่อมไร้ท่อปรากฎว่าเป็นไทรอยด์ รักษาโดยการกินยา กินยาได้ 6 เดือนค่าไทรอยด์ปกติหมอเลยให้หยุดยาตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันแต่ ผมต้องตรวจเลือดหาค่าไทรอยด์ทุก 2 เดือนเป็นเวลา 3 ปี ค่าปรกติทุกครั้งที่ตรวจ แต่ตาโปนยังมีและโตขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นภาพซ้อนมากขึ้น
ผมไปพบจักษุแพทย์เขาให้ผมกินยาลดอักเสบพวกสเตียร์รอยเป็นเวลา 3 ปี เพิ่ม ลดยา ตามหมอสั่ง อาการตาโปนดีขึ้น พอเข้าปีที่ 3 ผมเข้ารับการผ่าตัดเบ้าตาจากจักษุแพทย์ เพื่อเลาะกระดูกและไขมัน และปรับแต่งขนาดดวงตา 1 ปีหลังจากนั้น ผ่าตัดตกแต่งเปลือกตาเพื่อใหเตา2 ข้างเหมือนกันมากที่สุด ทุกอย่างดูดีและมีความสุขมาก
ปัจจุบันหลังจากผ่าตัดตามาได้ 2 ปีกว่า ตาขวาผมโปนอีกครั้งและโตขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นภาพซ้อนอีกครั้ง ทั้งๆที่ผลไทรอยด์ปรกติทุกครั้งที่ตรวจ มา6ปี (2 ปีหลังหมอให้ตรวจทุก 6 เดือน)
อยากทราบว่า
1. ผมต้องกินยาไทรอยด์เพื่อปรับระดับฮอร์โมน ทั้งๆที่ผลตรวจปรกติตลอด
2. ผมต้องทำยังไงกับตาขวาที่โปน หรือต้องเข้าขบวนการรักษา เหมือนเดิม คือ กินยาสเตียรอยด์ 2-3 ปี แล้วผ่าตัดอีก ถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่ไหวเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก
3. ผมอายุ 50 สูง 179 น้ำหนัก 68 กินอาหารดี ดูแลตังเองดี ไม่เครียด ออกกำลังกายประจำ ทำไมถึงกลับมาเป็นโรคได้อีก
รบกวนคุณหมอด้วยครับ
LikeLike
แนะนำให้ตรวจหาสาเหตุก่อนค่ะว่าตาขวาที่กลับมาโปนเกิดจากสาเหตุอะไร อาจพิจารณาทำ CT เบ้าตาเพื่อช่วยประเมินค่ะ
LikeLike
โอกาสที่โรคนั้นจะกลับมาเป็นซ้ำอีกมีได้ค่ะแต่เปอร์เซ็นท์ค่อนข้างน้อย (5-10%) สาเหตุยังไม่ชัดเจนแต่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น อายุที่มากขึ้น เพศชาย การสูบบุหรี่ ความเครียด คอเลสตอรอลสูงที่อาจจะมีส่วนทำให้โรคกลับมาค่ะ
LikeLike
คุณหมอคะ ขออนุญาตสอบถามค่ะ หากมีอาการตาโปน จากไทรอยด์เป็นพิษ (อาการน้อยและเริ่มฉีดสเตียรอยด์ไปแล้ว1ครั้ง) จะสามารถใส่คอนเทคเลนส์ได้ตามปกติไหมคะ หรือควรหยุดใส่คะ
LikeLike
สามารถใส่ได้ตามปรกติค่ะ
LikeLike
คุณหมอคะหนูเป็นไทรอยด์เป็นพิษรักษามา1ปีแล้วปีเล่า ตาข้างซ้ายโปนเรื่อยๆ ไม่มั่นใจเลยคะ เข้ารับการผ่าตัดได้เลยมั้ยคะ ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไรคะ
LikeLike
คุณหมอคะหนูเป็นไทรอยด์เป็นพิษรักษามา1ปีแล้วปีเเล้ง ตาข้างซ้ายโปนเรื่อยๆ ไม่มั่นใจเลยคะ ทำงานลำบากมาก เข้ารับการผ่าตัดได้เลยมั้ยคะ ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไรคะ
LikeLike
ถ้าตาโปนยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ส่วนใหญ่การผ่าตัดจะทำประมาณ 1.5-2 ปีหลังจากเริ่มมีอาการค่ะ (โรคสงบแล้ว) แต่สามารถพิจารณาเรื่องการให้สเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการระหว่างรอผ่าตัดค่ะ
LikeLike
สวัสดีค่ะ คุณหมอ อยากรู้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดตาโปนจากไทรอยด์ พอดีเป็นคนลาวค่ะ
LikeLike
ค่าใช้จ่ายขึ้นกับแต่ละ รพ.ค่ะ ด้วยเป็นการผ่าตัดแบบดมยาสลบ ถ้าเป็นรพ.เอกชนค่าใช้จ่ายน่าจะขั้นต่ำแสนบาทขึ้นไปค่ะ
LikeLike
แนะนำว่ามาให้หมอตรวจดูก่อนได้ค่ะถ้าสมมุติว่ามีภาวะเปลือกตาเลิกด้วยและไม่ได้โปนมากก็อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ในเบ้าตา แทนการทานหรือฉีดยาเข้าเส้น
LikeLike
คุณหมอคะ ขอสอบถามค่ะ เคยเป็นตาโปนข้างเดียวจากไทรอยด์ และได้ไปผ่าตัดกระดูกเบ้าตา ทำให้ข้างที่ผ่าตัด เบ้าตาลึกกว่าอีกข้างนึง และชั้นตาไม่เท่ากัน กรณีนี้สามารถศัลยกรรมให้ตาทั้งสองข้างดูใกล้เคียงกันได้มั้ยคะ
LikeLike
แนะนำให้มาดูก่อนค่ะว่าตาโปนตอนนี้ต่างกันมากไหม และสาเหตุที่ชั้นตาไม่เท่ากันเป็นเพราะอย่างอื่นหรือไม่ เนื่องจากการผ่าตัดแก้ตาโปนส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลกับตำแหน่งของเปลือกตาบนค่ะ
LikeLike