เคยสังเกตหรือไม่ว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้นริ้วรอยและความหย่อนคล้อยเริ่มมาเยือน หนังตาที่เคยเต่งตึงก็มักตกย้อย จากเดิมที่เคยตากลมโตก็จะดูตาเล็กลงไม่สวยงาม หรือรู้สึกว่าเปลือกตาดูเหมือน ปรือๆง่วงๆ กว่าที่เคยเป็น
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
กายวิภาคของเปลือกตาและใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผิวหนังที่บางลง ทำให้หย่อนคล้อยมีริ้วรอยเพิ่มขึ้น รวมถึงเนื้อเยื่อส่วนที่ลึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นชั้นไขมัน กล้ามเนื้อหรือเอ็นที่หย่อนคล้อยลงมามากขึ้นตามแรงโน้มถ่วง สำหรับบริเวณรอบๆดวงตา สิ่งที่พบบ่อยก็คือเรื่องของเปลือกตาบนและคิ้วที่หย่อนและ/หรือตก รวมถึงถุงใต้ตาที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น
มาทำความรู้จักกับปัญหาของเปลือกตาที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นกันดีกว่า
สำหรับเปลือกตาบน ปัญหาที่พบบ่อย แบ่งเป็น 3 ภาวะหลักคือ
- เปลือกตาหรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis)
- เปลือกตาตก (blepharoptosis/ eyelid ptosis)
- คิ้วตก (brow ptosis)
ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือ หนังตาหย่อน (dermatochalasis)
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้หนังตาสามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียว และมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษานั้นแตกต่างกัน
อาการของภาวะหนังตาหย่อน
สำหรับอาการของภาวะหนังหย่อน หนังตาส่วนเกินจะหย่อนคล้อยลงมา หางตาจะเริ่มดูตกลง ไม่สวยงาม หรือเดิมที่เคยดูเหมือนมีตา 2 ชั้น แต่ชั้นตาจะดูแคบลง พอเริ่มเป็นมากขึ้นจะดูเหมือนตาหรี่เล็กลงเรื่อย ๆ ดูคล้ายตาชั้นเดียวแทน ถ้ารุนแรงอาจบดบังลานสายตาด้านข้างทำให้ใช้สายตาได้ลำบากโดยเฉพาะเวลาขับรถ เปลี่ยนเลนเป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเมื่อยล้าหน้าผาก เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากช่วยยกเปลือกตาบนขึ้นตลอดเวลา อาจมีรอยย่นที่หน้าผากถาวรได้ในบางกรณี ขนตาอาจถูกหนังตาที่หย่อนกดลง และม้วนเข้าในทำให้กระจกตาตรงตาดำเป็นแผลหรือระคายเคืองได้


รูป 2 รูปนี้แสดงให้เห็นภาวะหนังตาบนหย่อนจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ให้ลองเปรียบเทียบรูปสมัยอายุ 24 ปี กับ 74 ปี ของบุคคลเดียวกันดู จะสังเกตเห็นว่า 50 ปีที่ล่วงไปนั้น ทำให้หนังตานั้นย้อยลงมาบังขอบเปลือกตาบนจนแทบไม่เห็นขนตา รวมถึงคิ้วที่ดูสูงขึ้นเพราะใช้กล้ามเนื้อหน้าผากยกขึ้นตลอดเวลาเพื่อให้ยังมองเห็นได้อยู่
แก้ไขภาวะหนังตาหย่อนอย่างไร
ภาวะเปลือกตาหย่อนสามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก (upper blepharoplasty) รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ในกรณีที่ต้องการแก้ไขเรื่องชั้นตาด้วย โดยเย็บยึดชั้นผิวหนังกับขอบของกล้ามเนื้อยกเปลือกตาเพื่อทำให้เกิดรอยพับขึ้นเวลาลืมตา

รูปแสดงการทำผ่าตัด upper blepharoplasty แก้ไขหนังตาหย่อน
ภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis/ eyelid ptosis)
เปลือกตาตก (ptosis) คือภาวะที่เปลือกตาบนนั้นคล้อยลงมาอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ควรจะเป็น โดยในภาวะปรกติขอบเปลือกตาบนจะอยู่บริเวณใกล้ขอบของตาดำด้านบน ถ้าเปลือกตาตกลงมามาก จนกระทั่งใกล้กับหรือคลุมรูม่านตา นอกจากจะทำให้ตาดูปรือแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อการมองเห็นและลานสายตาได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในอายุที่มากขึ้นนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตานั้นมีอาการอ่อนแรงหรือหลุดจากบริเวณที่เคยเกาะ ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาตกได้ จนจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อยกเปลือกตาในที่สุด
อาการของภาวะเปลือกตาตก
เมื่อเปลือกตาตกลงมาบังตาดำอาจทำให้เกิดอาการได้ดังนี้
ถ้าเป็นข้างเดียวจะทำให้ดูตาและคิ้วดูไม่เท่ากัน ข้างที่ตกอาจมีชั้นตาที่ดูสูงขึ้น และเบ้าตาลึกได้ไม่สวยงาม เพราะโดยปรกติคนเราจะพยายามยกคิ้วข้างที่เปลือกตาตกขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น

ถ้าเป็นสองข้างจะทำให้ดูตาปรือเหมือนง่วงนอนตลอดเวลาทั้งสองข้าง และคิ้วทั้งสองข้างจะดูสูงขึ้น เพราะใช้กล้ามเนื้อหน้าผากช่วยยกเช่นเดียวกัน ทำให้อาจมีอาการเมื่อยหน้าผากหรือคิ้ว และมีรอยย่นที่หน้าผากได้ นอกจากนี้อาจรู้สึกว่าลานสายตาด้านบนนั้นแคบลง ทำให้มองเห็นไม่กว้างเหมือนเคย บางคนอาจมีอาการเงยหน้าขึ้นตลอดเวลาเพื่อมองให้ชัดขึ้น ทำให้เมื่อยหรือปวดหลังคอได้


รูป 2 รูปนี้แสดงให้เห็นภาวะเปลือกตาตกที่ใกล้เคียงกันทั้งสองข้างหลังจากอายุมากขึ้น (65 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับรูปสมัยสาวๆ (25 ปี) โดยให้สังเกตที่ขอบของเปลือกตาบนว่าหย่อนลงมาบังตาดำมากขึ้น ระยะห่างจากจุดที่แสงแฟลชตกกระทบกับกระจกตา(จุดกึ่งกลางของกระจกตา)กับขอบเปลือกตาบน (margin reflex distance-1) นั้นสั้นลง ทำให้ตาดูปรือมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาวะหนังตาหย่อนด้านข้างร่วมด้วยเล็กน้อย (lateral hooding of upper eyelid skin)
แก้ไขภาวะเปลือกตาตกอย่างไร
เนื่องจากเปลือกตาตกเป็นภาวะที่เกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตา การแก้ไขจะแตกต่างกับการทำ upper blepharoplasty ซึ่งเป็นการผ่าตัดบริเวณชั้นผิวหนังเป็นหลักดังที่กล่าวถึงไปแล้ว การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาตกจะเป็นการผ่าตัดที่ชั้นกล้ามเนื้อตาที่อยู่ลึกลงไปจากชั้นผิวหนัง ซึ่งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตาหรือยกเปลือกตานั้นมี 2 มัดหลักๆคือ
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (levator muscle)
- กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Müller’s muscle)

วิธีการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาตกนั้นขึ้นกับความรุนแรงของเปลือกตาที่ตกและกำลังของกล้ามเนื้อตาที่เหลืออยู่ สำหรับเปลือกตาตกที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้น มักจะเกิดจากสาเหตุกล้ามเนื้อมัดใหญ่หลุดออกจากที่เคยเกาะ
ถ้าตกมากๆก็มักจะแก้ไขด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (external levator advancement) โดยการกรีดผ่านชั้นผิวหนังตรงบริเวณชั้นตา เพื่อเย็บกระชับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้กลับเข้าที่ อีกกรณีหนึ่งคือถ้ามีภาวะหนังตาหย่อนร่วมด้วยก็สามารถตัดเอาหนังส่วนเกินพร้อมทั้งกระชับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปในคราวเดียวกันได้
ถ้าตกน้อยๆ และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยา phenylephrine (ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายม่านตาและกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานในภาวะปรกติ) อาจจะใช้เทคนิคผ่าตัดกระชับกล้ามเนื้อมัดเล็กได้จากด้านในเปลือกตา (conjunctivomullerectomy) เวลาทำผ่าตัดจะพลิกเปลือกตาขึ้นมาและกรีดจากทางด้านในเปลือกตาผ่านทางเยื่อบุตาแทน ทำให้ไม่มีแผลเป็นบนผิวหนังด้านนอก
ทั้งนี้ศัลยแพทย์แต่ละท่านอาจมีเทคนิคและความชำนาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพราะจะสามารถประเมินและแนะนำวิธีผ่าตัดที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคลได้