ถุงใต้ตา (lower eyelid bags)

หลายๆคนอาจจะสังเกตว่าตรงเปลือกตาล่างของเรามีลักษณะเป็นถุงหรือดำคล้ำ ซึ่งทำให้เราดูเหนื่อย ไม่สดใส หรือดูแก่ได้ ซึ่งสาเหตุของถุงใต้ตานั้นมีได้หลายสาเหตุ

ถุงใต้ตาเกิดจากอะไร

สาเหตุของถุงใต้ตาส่วนใหญ่นั้นเกิดได้จากพันธุกรรมหรือกายวิภาคของคนแต่ละคนที่แตกต่างกันและอายุที่มากขึ้น ถ้าพิจารณาจากกายวิภาคมี 3 ส่วนหลักๆคือ

  1. ผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาล่างหย่อนจากการที่อายุมากขึ้นแล้วสูญเสียคอลลาเจน
  2. ไขมันที่เปลือกตาล่างดูอูมขึ้น (fat prominence, hills)
  3. ร่องน้ำตา (tear trough) ตรงรอยต่อระหว่างเปลือกตาล่างและแก้มนั้นเห็นได้ชัดเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณนั้นยุบตัว (volume loss) และเห็นเป็นร่องบริเวณที่เอ็นยึดขอบเบ้าตาตั้งอยู่ เปรียบได้กับหุบเขา (valley) ยิ่งทำให้เห็นความนูนของตัวไขมันเปลือกตาล่าง ซึ่งเปรียบได้กับภูเขา (hills) จนมีลักษณะคล้ายถุงชัดเจนขึ้น

แต่สาเหตุอื่นๆก็สามารถทำให้บริเวณเปลือกตาล่างดำคล้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ภูมิแพ้ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอนน้อย การโดนแดดมากๆ หรือการขาดน้ำหรือสารอาหารที่เพียงพอ

การรักษาถุงใต้ตา

การรักษาถุงใต้ตามีได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็อาจจะตอบโจทย์ที่แตกต่างกันไป

  1. การผ่าตัดแก้ไขถุงใต้ตา เป็นการรักษาที่สามารถแก้ปัญหาถุงใต้ตาได้กึ่งถาวร (อย่างน้อย 5-10 ปี ขึ้นกับความแก่เร็วหรือช้าของแต่ละคน) โดยมีหลายเทคนิค ซึ่งสามารถเลือกเทคนิคให้ตอบโจทย์แต่ละปัญหาของผู้ป่วยที่ต่างออกไปได้
  2. การฉีดสารเติมเต็ม (filler) หรือการเติมไขมัน เหมาะกับในกรณีที่เป็นปัญหาของร่องน้ำตาเป็นหลัก ซึ่งโดยปรกติสารเติมเต็มจะอยู่ได้ประมาณ 1 ปี และไขมันอาจจะอยู่ได้นานกว่านั้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องของความเสี่ยงของการฉีดสารเติมเต็มหรือการฉีดไขมันเช่นกัน เช่น การสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากสารเติมเต็มหรือก้อนไขมันนั้นไปอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา และในกรณีที่ผู้ป่วยเคยฉีดสารเติมเต็มมาก่อนและอยากที่จะผ่าตัดถุงใต้ตา แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้รออย่างน้อย 1 ปีหลังจากฉีดสาร เพื่อให้สารสลายไปก่อนที่จะทำการผ่าตัด
  3. การทำเลเซอร์ยกกระชับผิวหนัง สามารถช่วยกระชับผิวหนังที่เป็นรอยหรือหย่อนเล็กน้อยได้ แต่จะไม่สามารถแก้ไขร่องน้ำตาได้อย่างเช่นวิธีอื่นๆ

การจะเลือกวิธีรักษาแบบใด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด โดยแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจักษุแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางผิวหนังจะสามารถประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละท่านและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ได้

การผ่าตัดแก้ไขถุงใต้ตา (Lower Blepharoplasty)

การผ่าตัดแก้ไขถุงใต้ตานั้นสามารถแก้ไขหนังที่หย่อนและตัดไขมันที่ดูอูมๆออกได้ หรือจะนำไขมันนี้ไปจัดเรียงตรงบริเวณร่องน้ำตาเพื่อทำให้ร่องน้ำตานั้นตื้นขึ้นได้ ทำให้รอยต่อระหว่างเปลือกตาล่างและแก้มนั้นเรียบเนียนขึ้น ดูเยาว์วัยมากขึ้น

เทคนิคของการผ่าตัดนั้นสามารถกรีดเปิดแผลได้ 2 ทางหลักๆคือ

  1. เปิดแผลตรงบริเวณผิวหนังขอบเปลือกตาล่าง ใต้ต่อขนตา (transcutaneous, subcilliary incision technique)
  2. ซ่อนแผลโดยเปิดแผลผ่านทางเยื่อบุตาล่าง (transconjunctival technique)

นอกจากนี้ เทคนิคที่ซับซ้อนแต่เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน คือการเลาะเอ็นยึดขอบเบ้าตา (orbitomalar ligament) ออกและนำไขมันส่วนเกินไปปูจัดเรียงบริเวณร่องน้ำตา (tear trough) ของผู้ป่วย เปรียบเสมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือลดความอูมของไขมันที่เปลือกตาและได้หนุนร่องน้ำตาให้สูงขึ้นด้วย (เปรียบเสมือนการเติมสารเติมเต็มโดยที่สารนั้นเป็นไขมันของเราเอง) ทำให้รอยต่อระหว่างเปลือกตาล่างและแก้มนั้นดูเรียบเนียนมากขึ้น และเนื่องจากไขมันที่นำไปวางเรียงนั้นเป็นไขมันที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง โอกาสที่จะฝ่อหรือสลายไปก็น้อยกว่าการนำไขมันจากส่วนอื่นของร่างกายมาฉีดบนใบหน้า เทคนิคนี้นิยมเรียกกันว่า fat transposition/reposition

สำหรับตัวของหมอเองนั้น นิยมเทคนิคการผ่าตัดโยกย้ายไขมันไปปูที่ร่องน้ำตาผ่านทางเยื่อบุตามากที่สุด เนื่องจากผลลัพธ์มักจะอยู่ได้นานกว่าเทคนิคอื่นๆ แต่เทคนิคนี้ก็มีข้อควรระวังมากๆคือต้องเลาะไขมันออกจากกล้ามเนื้อที่ใช้กลอกตา (inferior oblique muscle) ให้ดีก่อนที่จะโยกมาปูที่ร่องน้ำตา เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพซ้อนได้หลังผ่าตัด นอกจากนั้นไขมันของผู้ป่วยอาจจะคลำได้เป็นแข็งๆตรงร่องน้ำตาเล็กน้อยหลังทำใหม่ๆ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีหนังส่วนเกินก็สามารถเก็บเพิ่มเติมบริเวณขอบเปลือกตาล่างได้ เรียกว่า skin pinch technique

การผ่าตัดแก้ไขถุงใต้ตาส่วนใหญ่มักจะทำภายใต้การฉีดยาชาบริเวณเปลือกตาล่างและแก้ม และมีระยะเวลาในการทำผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อ 2 ข้าง โดยหลังผ่าตัดอาจจะมีไหมที่ใช้ช่วยดึงไขมันที่โยกมาปูตรงร่องน้ำตาบริเวณแก้มทั้งสองข้าง (ซึ่งจะตัดออกประมาณ​ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด) หลังจากผ่าตัดแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านไปประคบเย็นได้เลยโดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล อาการบวมช้ำจะดีขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์และเข้าที่ประมาณ 3-6 เดือนหลังผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดถุงใต้ตา

การผ่าตัดถุงใต้ตานั้นควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากสามารถทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าตัดไขมันหรือหนังออกมากเกินไป ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ ได้แก่

  1. เปลือกตาล่างแบะออกหรือไม่แนบกับลูกตา (ectropion) เนื่องจากหนังตาถูกตัดออกมากเกินไป
  2. เบ้าตาโหลเนื่องจากไขมันถูกตัดออกมากเกินไป
  3. หลับตาไม่สนิท
  4. เยื่อบุตาบวม (chemosis)

ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขสามารถทำได้ในบางกรณีแต่มักจะมีความซับซ้อนและผลลัพธ์อาจจะไม่เป็นดังที่ต้องการ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ก่อนทำผ่าตัดถุงใต้ตาเสมอ

เรียบเรียงโดย ผศ.พญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ

ตัวอย่างก่อน-หลังผ่าตัดถุงใต้ตา

One thought on “ถุงใต้ตา (lower eyelid bags)

Leave a reply to ลักษณาวดี วรรณสถิตย์ Cancel reply